Last updated: 8 Jul 2019 | 3449 Views |
คงปฏิเสธได้ยาก ว่าทุกวันนี้ โลกที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้ถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์จากมันสมองของมนุษย์ แต่จะทราบได้อย่างไรว่า "เทคโนโลยี" ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ไม่ได้มีแค่ “คุณ” แต่กลับมี “โทษ” ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย
จะดีใจหรือเสียใจดี...เมื่อมีข้อมูลชุดหนึ่ง ถูกส่งต่อกันอย่างกว้างขวางในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำนองที่ว่า "หลอดตะเกียบ" หากเกิดแตกขึ้นมาแล้วล่ะก็ "อันตรายอย่าบอกใคร" เพราะสารปรอทจะถูกปล่อยออกมามากมาย จนถึงขั้นทำลายประสาทส่วนกลาง แม้เพียงไอเล็กๆ ก็สามารถทำลายสุขภาพต่อเด็กและสตรีมีครรภ์ได้
"ดร.ชาญณรงค์ บานมงคล" อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รายละเอียดว่า จากข้อมูลที่ส่งต่อกันในสังคมออนไลน์เวลานี้ เป็นเรื่องจริง เนื่องจาก “หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์” หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “หลอดตะเกียบ” บรรจุสารปรอทอยู่ภายใน 4 มิลลิกรัมต่อ 1 หลอดตะเกียบมาตรฐาน มีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ประมาณ 8 เท่า หรือ 8,000 ชั่วโมง และการใช้พลังงานของหลอดตะเกียบจะน้อยกว่าหลอดไส้ ประมาณ 4 เท่า ซึ่งจะมีอันตรายก็ต่อเมื่อ หลอดไฟเกิดการแตกเท่านั้น อีกทั้งเด็กและสตรีมีครรภ์ ก็ควรหลีกเลี่ยงสารดังกล่าว เนื่องจากเป็นช่วงภาวะร่างกายหรือภูมิคุ้มกันด้อยกว่าปกติ แต่ปริมาณสาร 4 มิลลิกรัมที่ว่านี้ ไม่สามารถทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน หรือรุนแรงถึงขั้นทำลายระบบประสาทส่วนกลางได้ หากแต่เพียงรับรู้ข้อมูลไว้ จะได้พึงระวังเมื่อพบเจอเหตุการณ์ด้วยตนเอง
“สารปรอทไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลอดตะเกียบเท่านั้น หลอดไส้ทั่วๆ ไปก็มีเช่นกัน ซึ่งจะมีปริมาณมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดชนิดนั้นๆ ส่วนการเข้าสู่ร่างกายนั้น เข้าได้ทางปาก โดยสูดเอาผง หรือไอปรอทเข้าสู่ปอด เนื่องจากปรอทสามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่าย อีกทั้งเข้าทางผิวหนัง โดยการดูดซึม ไอระเหยหรือฝุ่นละอองของปรอททำให้ผิวหนังระคายเคืองเกิดโรคผิวหนังได้”
ดร.ชาญณรงค์ เผยอีกว่า เมื่อหลอดไฟทุกชนิดเกิดแตกขึ้นมา สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือ ระบายอากาศบริเวณนั้นให้ถ่ายเทมากที่สุด เปิดประตู-หน้าต่าง ให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้ ต่อมาให้ใช้ถุงมือชนิดหนา เก็บชิ้นส่วนที่แตกกระจาย เพื่อป้องกันการบาดนิ้วจากเศษของหลอดไฟ แต่เน้นย้ำว่า "ไม่ควรใช้เครื่องดูดฝุ่น" ในการเก็บกวาดผงหรือเศษต่างๆ เพราะจะทำให้สารปรอทเข้าไปสะสมในเครื่องดุดฝุ่น สุดท้ายให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดคราบผงฝุ่นที่หลงเหลือให้เรียบร้อย ซึ่งไม่ว่าหลอดไฟจะเปิดใช้งานอยู่หรือไม่ หากเกิดแตกขึ้นมา อันตรายหรือสารปรอทที่จะฟุ้งกระจาย จะมีความรุนแรงเท่ากับขณะปิดการใช้งาน และไม่แนะนำให้นำไปฝัง แต่ควรนำไปทิ้งลงถังขยะสารพิษตามปกติ
“อาการแพ้พิษ...เกิดจากปรอท มีทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 0.02 กรัม ที่จะก่ออันตรายได้ หากรับประทานเข้าไปอาจเกิดอาการอาเจียน ปากพอง แดงไหม้ อักเสบและเนื้อเยื่ออาจหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ หรือเลือดออก ปวดท้องอย่างแรง เนื่องจากปรอทกัดระบบทางเดินอาหาร และหากเข้าไปในระบบหมุนเวียนโลหิต ปรอทจะไปทำลายไต ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด แต่ทั้งนี้ร่างกายต้องรับไปปริมาณที่มากพอ ไม่ใช่หลอดตะเกียบแตกหลอดเดียวจะสามารถเป็นเช่นนี้”
เคดิต : https://www.dailynews.co.th/article/293003
26 Oct 2020
17 Oct 2019
23 Sep 2019